top of page
DSC_1983.jpg

แหล่งโบราณคดีบ้านพรหมทินใต้

พิพิธภัณฑ์บ้านพรหมทินใต้

แหล่งโบราณคดีบ้านพรหมทินใต้

บ้านพรหมทินใต้ หมู่ที่ 11 ตำบลหลุมข้าว อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี

การศึกษาแหล่งโบราณคดีพรหมทินใต้เริ่มเมื่อปีพ.ศ. 2529 โดยกรมศิลปากร ได้เข้ามาทำการสำรวจเมืองโบราณในเขตจังหวัดลพบุรี ซึ่งได้พบเมืองโบราณหลายแห่งรวมไปถึงเมืองโบราณบ้านพรหมทินใต้ จากการสำรวจครั้งนั้นพบหลักฐานประเภทเศษภาชนะดินเผาตั้งแต่เนื้อธรรมดาจนถึงเนื้อแกร่ง ไม่มีการตกแต่งมากนัก(สันนิษฐานว่าภาชนะผลิตขึ้นในชุมชน) และยังพบเครื่องถ้วยแบบจีนสมัยราชวงศ์เหม็ง ภาชนะรูปแบบไหขอม เครื่องเคลือบจากกลุ่มเตาศรีสัชนาลัย    รวมทั้งยังพบบันทึกภาษาบาลี อักษรปัลวะ(พุทธศตวรรษที่ 11-12) และอักษรหลังปัลวะ(พุทธศตวรรษที่ 13)

พ.ศ. 2534  กรมศิลปากรได้ดำเนินการขุดค้นภายในวัดพรหมทินใต้  บริเวณด้านข้างพระอุโบสถหลังเก่าโดยได้ทำการบูรณะพระอุโบสถหลังเก่า ซึ่งเป็นพระอุโบสถในสมัยอยุธยา


     พ.ศ. 2547  ภาควิชาโบราณคดี    คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้นำนักศึกษาพร้อมด้วยคณะอาจารย์มาทำการขุดค้นภาคสนาม    โดยขุดค้นบริเวณด้านทิศตะวันตกของพระอุโบสถหลังเก่าวัดพรหมทินใต้  และได้มีการดำเนินการขุดค้นต่อเนื่องอีก 2 ครั้ง    ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัย 'โบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในพื้นที่ชายขอบของภาคกลาง    : กรณีศึกษาแหล่งโบราณคดีในเขตที่สูงของจังหวัดลพบุรี' ซึ่งมี    ผศ.ดร.ธนิก เลิศชาญฤทธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี    มหาวิทยาลัยศิลปากรเป็นผู้ควบคุมและดำเนินการวิจัย  
   พ.ศ. 2550  ได้มีการดำเนินการขุดค้นวิจัยต่อโดย    ผศ.ดร.ธนิก เลิศชาญฤทธ์ และคณะวิจัย ซึ่งทำการขุดค้นเพิ่มเติมได้พบหลุมฝังศพมนุษย์มี โครงกระดูกมนุษย์ และแม่พิมพ์สำหรับผลิตทองแดง(ขนาดเล็ก)

 จากการสำรวจและการขุดค้นอย่างเป็นระบบในแหล่งโบราณคดีพรหมทินใต้ รวมทั้งการตรวจสอบโบราณวัตถุเช่น    เหรียญทวารวดี จารึก ที่มีชาวบ้านนำมามอบให้ และจากการศึกษาชั้นดิน พอสรุปได้ว่ามี 3 สมัยดังนี้
     สมัยที่ 1  เป็นสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย    ซึ่งรวมถึงยุคสำริดตอนปลายและยุดเหล็ก    หลักฐานที่พบได้แก่โครงกระดูกมนุษย์ สิ่งที่พบร่วมกับโครงกระดูก    เช่น ภาชนะดินเผารูปทรงต่างๆ (เกือบทั้งหมดมีการตกแต่งผิวด้วยการขัดมัน)    เครื่องมือเหล็ก กำไรสำริด ลูกปัด แวดินเผา เป็นต้น หลักฐานเหล่านี้พบอยู่ในชั้นดินล่างสุดเท่าที่มีการขุดค้นในขณะนั้น    จากการกำหนดอายุเคลือบฟันสุนัขซึ่งพบรวมกับโครงกระดูกมนุษย์อยู่ระหว่าง 2,500-3,000 ปีมาแล้ว


     สมัยที่ 2  เป็นช่วงที่มีการใช้พื้นที่ต่อเนื่องยาวนานที่สุด ชั้นดินหนาเฉลี่ยประมาณ 100 เซนติเมตร    เป็นชั้นที่วางตัวอยู่ถัดขึ้นมาจากชั้นดินก่อนสมัยประวัติศาสตร์ตอนปลาย หลักฐานที่พบจากการขุดค้นมีหลากหลายเช่น ภาชนะดินเผาแบบต่างๆ โดยเฉพาะภาชนะแบบมีสัน ลูกปัดแก้ว    เบี้ยดินเผา ชิ้นส่วนพวยกา หินดุ ฯลฯ (ราวพุทธศตวรรษที่ 11-13) นอกจากนี้ยังมีการค้นพบเหรียญตามแบบทวารวดี    และจารึกภาษาบาลี กำหนดอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 11-12
     สมัยที่ 3  หลักฐานที่พบได้แก่ ซากโบราณสถานก่อด้วยอิฐ(อุโบสถและเจดีย์) เครื่องปั้นดินเผาเนื้อแกร่ง เครื่องถ้วยสังคโลก    เครื่องถ้วยจีนและเครื่องเคลือบสีน้ำตาลแบบสุโขทัย เป็นต้น    สันนิษฐานว่าน่าจะมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 19-2

โปรแกรมการเข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์

  • รับชมวิดีทัศน์ (10-15 นาที)  ประวัติ ความเป็นมา เรื่องราวการขุดสำรวจ  และความสำคัญของเครื่องปั้นดินเผาที่ขุดพบ 

  • วิทยากร แนะนำภาชนะดินเผาตั้งแต่เนื้อธรรมดาจนถึงเนื้อแกร่ง ล้ำค่าต่างๆที่ นำมาจัดแสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์ เช่น พระพนัสบดีที่ขุดค้นพบในบริเวณวัดซึ่งมีอายุกว่า 1,300 ปี
    ( 20 นาที)

สำหรับผู้ที่สนใจเข้าเยี่ยมชมการขุดค้นและศึกษาแหล่งโบราณคดีบ้านพรหมทินใต้ สามารถเยี่ยมชมได้ทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ และหากต้องการเข้าชมเป็นหมู่คณะ

กรุณาติดต่อ  086-8103413

bottom of page