ดินสอพอง ถือเป็นสมุนไพรที่อยู่คู่เมืองไทยมาช้านาน ซึ่งจัดอยู่ในสมุนไพรจำพวกแร่ธาตุ หรือเรียกว่าเครื่องยาธาตุวัตถุ แต่ถ้าสืบค้นไปก็จะพบว่าดินสอพองเป็นยาสมุนไพรตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จาก “ตำราพระโอสถพระนารายณ์” ที่กล่าวถึงดินสอพองไว้ว่า “ ให้เอาชานอ้อย กำยาน แก่นคูน กรักขีถาก รมหม้อใหม่ใส่น้ำไว้ จึงเอาดินสอพองเผาให้สุก ใส่ลงในหม้อน้ำนั้นให้คนไข้กินเนืองๆ แก้ร้อนใน แก้กระหายน้ำ หยุดแล” ซึ่งถือว่าดินสอพองเป็นยาสมุนไพรที่เก่าแก่ และรักษาโรคให้กับผู้คนในสมัยนั้นได้เป็นอย่างดี
ปัจจุบันแหล่งผลิตวัตถุดิบของดินสอพองแหล่งใหญ่อยู่ที่ตำบลท่าแค และตำบลท่าตะโก จังหวัดลพบุรี ที่ใต้พื้นดินมีแร่ธาตุที่เรียกว่า “ดินสอพอง” อยู่เป็นจำนวนมาก โดยชาวบ้านจะไปรับซื้อดินสอพองมาจากละแวกนั้น แล้วนำมาผลิตที่หมู่บ้านหินสองก้อน (ริมคลองชลประทาน) ตำบลทะเลชุบศร อำเภอเมือง (บริเวณสะพาน 6) หรือที่หลายคนรู้จักกันดีในชื่อของ “หมู่บ้านดินสอพอง” ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่ทำดินสอพองกันแทบทุกครัวเรือน เนื่องจากพื้นที่บริเวณไม่เหมาะแก่การเพาะปลูก เนื่องจากมีดินสีขาวอยู่เป็นจำนวนมาก ทำให้นำมาแปรรูปเป็นดินสอพองในที่สุด ซึ่งที่ผ่านมาดินสอพองไม่ได้เป็นเพียงยาสมุนไพรเพื่อรักษาโรคอย่างในอดีตอีกต่อไปแล้ว แต่ดินสอพองได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของวัตถุดิบในสินค้าอุตสาหกรรมที่สำคัญของไทย เช่น อุตสาหกรรมยาสีฟัน, อุตสาหกรรมการผลิตธูป, ตกแต่งเครื่องเรือน, ไข่เค็มดินสอพอง, ทำสีฝุ่น และอุตสาหกรรมยาแผนปัจจุบันที่ใช้ในการรักษาสิว และโรยแผล ก็ใช้ดินสอพองเป็นส่วนหนึ่งของวัตถุดิบในการรักษาสิว