top of page

แม่น้ำลพบุรี   จังหวัดลพบุรี

แม่น้ำลพบุรี   จังหวัดลพบุรี

           แม่น้ำลพบุรีเป็นแม่น้ำที่แยกจากแม่น้ำเจ้าพระยาที่ตำบลม่วงหมู่ อำเภอเมือง จังหวัดสิงห์บุรีไหลผ่านจังหวัดลพบุรีมาบรรจบกับแม่น้ำป่าสักที่อำเภอเมืองจังหวัดพระนครศรีอยุธยามีความยาวประมาณ 85 กิโลเมตรความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของการสัญจรด้วยเรือที่เริ่มจางหายไปจากลำน้ำลพบุรีที่ในอดีตที่เคยคราคร่ำไปด้วยจำนวนเรือมากมายหลากหลายรูปแบบ กระทั่งในวันนี้แทบไม่เห็นแม้กระทั่ง
เรือแจวพื้นบ้านเลย

แม่น้ำลพบุรี   จังหวัดลพบุรี
แม่น้ำลพบุรี   จังหวัดลพบุรี

สิ่งที่ยังพอหลงเหลือให้เห็นอยู่คงมีแต่เรือนแพที่ลอยลำกับยอที่เป็นเครื่องมือหาปลาของชาวบ้านริมสองฝั่งคลองเท่านั้น  ประมาณพ.ศ. 2505-2510 ใครที่มีีวัยเด็กในช่วงนั้นคงสนุกสนานกับการดำผลุดดำว่ายในแม่น้ำแห่งนี้ เรือบรรทุกข้าวที่ลากจูงยาวต่อกันหลายลำท้าทายชวนให้เด็กๆที่กำลังเล่นน้ำกลุ่มใหญ่ต่างที่จะโผเข้าไปเกาะเกี่ยวเรือที่ลาดจูงกันมา ในขณะผู้ที่อยู่บนเรือต้องคอยถือไม้มาไล่เด็กๆให้ไกลพ้นจากแนวลากจูงด้วยเกรงอุบัติเหตและความเสียหายที่เกิดขึ้น ซึ่งแน่นอนว่ามันคงเป็นความยุ่งยากรวมทั้งการหาผู้รับผิดชอบด้วยเช่นกัน ในอดีตถนนจากศาลพระกาฬผ่านบ้านวิชาเยนทร์ ตรงไปจะเป็นทางเทลาดลงไปสู่แม่น้ำลพบุรี(ปัจจุบันบริเวณตรงข้ามศาลลูกศร) 
ด้านซ้ายของทางเทลาดลงแม่น้ำมีตรอกโรงยา(โรงยาฝิ่น )ละแวกนั้นมีท่าเรือเขียว-ท่าเรือแดง สำหรับเดินทางเข้ากรุงเทพ ซึ่งปัจจุบันคือบริเวณเชิงสะพานที่จะข้ามไปวัดพรหมาสตร์  เรื่องของเรือเขียว-เรือแดงนี้ได้มีการกล่าวไว้เกี่ยวกับเรือสำเภาของจีนซึ่งมีระเบียบไว้ว่า หากเป็นสำเภาของจีนฮกเกี้ยนให้ทาหัวเรือสีเขียว ส่วนสำเภาของชาวแต้จิ๋วให้ทาหัวเรือสีแดง อันนี้ไม่ทราบว่าจะมีความสัมพันธ์กันหรือไม่เพียงใดกับเรื่องสีของท่าเรือเขียว-เรือแดงที่ลพบุรีนี้  

แม่น้ำลพบุรี   จังหวัดลพบุรี
แม่น้ำลพบุรี   จังหวัดลพบุรี

มีผู้เล่าให้ฟังว่าสมัยก่อนที่ลพบุรีไม่มีโรงน้ำแข็งก็ต้องนำน้ำแข็งล่องเรือขึ้นมาจากกรุงเทพฯ กลบด้วยขี้เลื่อย /แกลบ ตลอดจนเพื่อนๆที่มีภูมิลำเนาอยู่แถว อ.บ้านแพรกซึ่งเป็นเขตติดต่ออยุธยากับลพบุรี เล่าให้ฟังว่าการเดินทางด้วยเรือในสมัยนั้นเพื่อที่เข้ามาเรียนในตัวจังหวัดลพบุรีต้องใช้เวลาการเดินทางนานนับชั่วโมงทีเดียว... ระยะถัดมาเมื่อวันที่เรือเขียว-เรือแดงเริ่มหยุดวิ่งลง การเดินทางด้วยเรือก็ยังคงมีอยู่  ยังคงมีมีเรือหางยาวและเรือสองตอนวิ่ง โดยเรือหางยาวทั่วไปจะจุผู้โดยสารประมาณ 8-12 คน ส่วนเรือสองตอนนั้นจะคล้ายกับเรือหางยาวแต่สั้นกว่ามีที่นั่งสองตอน นั่งได้ตอนละ 2 คนรวมผู้ขับเรือเป็น 5 คน    เครื่องยนต์ที่ติดบนเรือก็เป็นเครื่องยนต์สูบเดียว ใช้เครื่องยนต์  JERO หรือ ROTAX  ยังไม่มีการนำเครื่องของรถยนต์ไปติดตั้งในเรือดังเช่นในปัจจุบัน วัดที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำลพบุรีในตัวเมืองก็เช่นวัดพรหมาสตร์เลยขึ้นไปทางจังหวัดสิงห์บุรี ก็จะมี วัดมะปรางค์หวาน, วัดเทพกุญชร, วัดอัมพวัน, วัดกลาง,วัดโพธิ์ระหัต, วัดสิงห์ทอง, 
  วัดทองแท่ง, และวัดสนามไชย เป็นต้น แต่ละวัดก็ห่างกันประมาณกิโลเมตรเศษแม่น้ำลพบุรีส่วนนี้ก็จะคู่ขนานกับเส้นทางรถยนต์จากลพบุรีไปยังจังหวัดสิงห์บุรีถนนสายลพบุรี-สิงห์บุรีในระยะ พ.ศ. 2510 ที่ยังคงอาศัยการเดินทางด้วยเรือเพราะ รถประจำทางที่วิ่งในแต่ละวันมีจำนวนน้อย อีกประการหนึ่งคือยังไม่มีสะพานข้ามคลอง ผู้ที่อาศัยอยู่อีกฝากหนึ่งของฝั่งคลองก็ต้องใช้เรือข้ามคลองอยู่ดี เช่นนี้เองเรือจึงยังคงเป็นนิยมอยู่ในช่วงนั้น....

    

เวลาที่เหลือในวันนี้ ดูเหมือนจะเป็นยุคสุดท้ายที่เราจะได้พบเห็นเรือสัญจรบนสายน้ำแห่งนี้ดังเช่นในอดีตกระมัง?  ความคงอยู่ของแม่น้ำลพบุรีสายน้ำนี้อาจถูกวัชพืชและโคลนตมสะสมจนตื้นเขินและกลายเป็นคูน้ำเล็กๆ  การอนุีัรักษ์พัฒนาดูแลปรับปรุงเพืื่อให้แหล่งน้ำที่เคยเลื่องลือชื่อแห่งนี้ให้เป็นแหล่งกำเนิดหอย ปู ปลา หรือสัตว์น้ำอื่นๆที่พอจะเป็นแหล่งอาหารของคนพื้นบ้านในละแวกสองฝั่งคลองเพื่อยังคงภาพของวิถีท้องถิ่นให้คงปรากฏอยู่และรอวันที่เหมาะสมกับการพัฒนาแม่น้ำสายนี้ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวตลอดจนศึกษาวิถีชุมชนก็คงนับว่าเป็นเรื่องสมควรและเหมาะสม ดังนั้นแล้วความห่วงใย-หวงแหนและช่วยกันรักษาแม่น้ำสายนี้เพื่อให้หล่อเลี้ยงชุมชนโดยทางตรงและทางอ้อมคงมิใช่เรื่องสูญเปล่าอย่างแน่นอนการร่วมมือช่วยกันดูแลรักษาแม่น้ำลพบุรีสายนี้ให้สืบสถาพรจึงอาจเปรียบเสมือนการได้ต่อชีวิตและลมหายใจของผู้คนในท้องถิ่นนี้เช่นกัน.....
  

bottom of page