top of page

เพนียดคล้องช้าง จังหวัดลพบุรี

เพนียดคล้องช้าง จังหวัดลพบุรี

             ตั้งอยู่ในบริเวณค่ายพระนารายณ์มหาราช ตำบลทะเลชุบศร อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี

สภาพเนินดินที่เป็นรูปสี่เหลี่ยม พะเนียดคล้องช้างตั้งอยู่ภายในค่ายสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ตรงข้ามโรงเรียนอนุบาลลพบุรี จัดอยู่ในเขตการปกครองของตำบลทะเลชุบศร อำเภอเมืองลพบุรี ตัวพะเนียดมีลักษณะเป็นเนินดินสูงรูปสี่เหลี่ยม ด้านทิศเหนือติดสนามฟุตบอลและอาคารของศูนย์สงครามพิเศษ ค่ายสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทิศใต้ติดถนนนารายณ์มหาราช หรือทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๓๑๑ ทิศตะวันออกเป็นพื้นที่ของค่ายสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ส่วนทางทิศตะวันตกติดกับโบราณสถานประตูพะเนียด

เพนียดคล้องช้าง จังหวัดลพบุรี
เพนียดคล้องช้าง จังหวัดลพบุรี

              สำหรับโบราณสถานพะเนียดคล้องช้างนั้น ยังไม่ปรากฏหลักฐานเกี่ยวกับช่วงศักราชเมื่อแรกสร้างอย่างชัดเจนนัก โดยพบว่ามีบันทึกการเดินทางของชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามายังเมืองลพบุรี ได้การกล่าวถึงสถานที่แห่งนี้เป็นครั้งแรกในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ตั้งแต่เมื่อราวปีพ.ศ.๒๒๑๖ ดังนั้นพะเนียดคล้องช้างจึงน่าจะถูกสร้างขึ้นก่อนช่วงเวลาดังกล่าวหรือก่อนพุทธศตวรรษที่ ๒๓ ส่วนประตูพะเนียดซึ่งเป็นโบราณสถานสำคัญอีกแห่งที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของพะเนียดคล้องช้างนั้น น่าจะถูกสร้างขึ้นตั้งแต่เมื่อครั้งที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงสร้างเมืองลพบุรีเป็นราชธานีแห่งที่ ๒ ซึ่งก็คือเมื่อราว

  พ.ศ.๒๒๐๘ – ๒๒๐๙ หรือราวพุทธศตวรรษที่ ๒๓ นั่นเอง พะเนียดคล้องช้างเป็นโบราณสถานที่ยังไม่ปรากฏประวัติการก่อสร้างที่ชัดเจนนัก โดยพบว่าโบราณสถานแห่งนี้มีลักษณะเป็นเนินดินรูปสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ มีตำแหน่งที่ตั้งอยู่นอกเมืองด้านทิศตะวันออกปัจจุบันอยู่ภายในเขตพื้นที่ของค่ายสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

              ในเอกสารบันทึกการเดินทางของชาวต่างประเทศที่เข้ามาในช่วงรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชนั้น ได้กล่าวถึงความสำคัญของเมืองลพบุรีและพระราชนิยมของสมเด็จพระนารายณ์ที่มีต่อการล่าสัตว์และการคล้องช้าง ซึ่งน่าจะสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของโบราณสถานแห่งนี้ได้เป็นอย่างดี เพราะนอกจากจะเป็นสถานที่สำหรับแปรพระราชฐานของกษัตริย์ไทยแล้ว ยังเป็นสถานที่ต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองในสมัยนั้นด้วย เอกสารดังกล่าวได้แก่ จดหมายเหตุของคณะบาทหลวงฝรั่งเศส ซึ่งได้จดบันทึกเรื่องราวในช่วงระหว่างปีพ.ศ.๒๒๑๖ มีความตอนหนึ่งว่า "...พระเจ้าแผ่นดินกำลังเตรียมพระองค์ที่จะเสด็จไปยังเมืองละโว้ ซึ่งเป็นเมืองที่โปรดประทับมากกว่าเมืองอื่นๆ อยู่ห่างพระนครระยะทาง ๒ วัน ที่เมืองนี้เคยเป็นที่ประทับทุกๆ ปี คราวละ ๔ – ๕ เดือน เพื่อทรงไล่เสือและคล้องช้าง... " ต่อมาราวปีพ.ศ.๒๒๒๔ - ๒๒๒๕ กลุ่มบาทหลวงคณะเดิมได้บันทึกเหตุการณ์ช่วงหนึ่งไว้ว่า "...เมื่อต้นเดือนธันวาคม พระเจ้าแผ่นดินสยามได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังเมืองละโว้ เพื่อทรงเปลี่ยนอากาศและทรงพระราชสำราญในการคล้องช้าง ตามธรรมดาในปีหนึ่ง เคยประทับอยู่ในเมืองนี้ ๘ เดือน..." นอกจากนั้นคณะทูตจากฝรั่งเศสชุดที่ ๒ นำโดย ลาลูแบร์ ได้บันทึกไว้ว่า


             "...ละโว้ (Louvo) ตรงละติจูด ๑๔ องศา ๔๒ ลิปดา ๓๒ ฟิลิปดา พระเจ้ากรุงสยามโปรดเสด็จแปรพระราชฐานไปประทับอยู่ที่เมืองนั้นเกือบตลอดปี เพื่อทรงสำราญพระราชอิริยาบถด้วยการประพาสล่าสัตว์ เช่น ประพาสล่าเสือหรือโพนช้าง..." จากข้อความที่ปรากฏทั้งหมดนั้น ย่อมแสดงให้เห็นว่า สถานที่สำหรับการคล้องช้างหรือพะเนียดคล้องช้างนั้น น่าจะสร้างขึ้นก่อน                    ช่วงสมัยดังกล่าวแล้ว ส่วนสาเหตุที่ต้องใช้พื้นที่กว้างขวางพร้อมทั้งก่อเนินดินให้มีขนาดสูงใหญ่ ก็อาจเป็นด้วยสาเหตุดังที่มีบันทึกไว้โดยชาวต่างชาติ ความว่า "...จำเป็นต้องใช้กำลังไพร่พลในการล่าช้างซึ่งแต่ละครั้งต้องใช้กำลังคน ๓๐,๐๐๐ – ๔๐,๐๐๐ คน สมเด็จพระนารายณ์มหาราช มิได้ทรงล่าช้างเพื่อเกิดความเพลิดเพลินส่วนพระองค์แต่ช้างที่ล้อมได้จำนวนปีละ ๓๐๐ เชือก จะเป็นสินค้าออกที่สำคัญในเขตอินเดีย..."

อย่างไรก็ดี ทางทิศตะวันตกของเนินดินบริเวณพะเนียดคล้องช้างนี้ ยังมีโบราณสถานที่สำคัญมากแห่งหนึ่งตั้งอยู่ใกล้เคียงกันด้วย คือ ประตูพะเนียด ซึ่งเป็นประตูเมืองโบราณที่สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยเป็นประตูเมืองเพียง ๑ ใน ๒ แห่ง (ประตูชัยและประตูพะเนียด) ที่ยังหลงเหลือหลักฐานมาถึงในปัจจุบัน หลังจากสมัยสมเด็จพระนารายณ์แล้ว เมืองลพบุรีก็หมดความสำคัญลงไปด้วย จนกระทั่งต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ จึงพบหลักฐานจากภาพถ่ายรุ่นเก่าของโบราณสถานแห่งนี้อีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้จากการดำเนินงานทางโบราณคดีในปีพ.ศ.๒๕๔๕ นั้น พบว่า มีท่อน้ำประปาดินเผาสมัยสมเด็จพระนารายณ์ถูกฝังห่างจากประตูพะเนียดออกไปประมาณ ๒๐๐ เมตรด้วย

             เพนียดคล้องช้าง ตั้งอยู่ในค่ายพระนารายณ์มหาราช โบรารสถานแห่งนี้มีลักษณะเป็นเนินดินรูปสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ จดหมายเหตุของคณะบาทหลวงฝรั่งเศส บันทึกเรื่องราวปี พ.ศ. 2216 ความตอนหนึ่งว่า "...พระเจ้าแผ่นดินกำลังเตรียมพระองค์ที่จะเสด็จไปยังเมืองละโว้ ซึ่งเป็นเมืองที่โปรดประทับมากกว่าเมืองอื่นๆ อยู่ห่างพระนครระยะทาง 2 วัน ที่เมืองนี้เคยเป็นที่ประทับทุกๆ ปี คราวละ 4-5 เดือน เพื่อทรงไล่เสือและคล้องช้าง... " ต่อมาราวปี พ.ศ. 2224-2225 กลุ่มบาทหลวงคณะเดิมได้บันทึกเหตุการณ์ช่วงหนึ่งไว้ว่า "...เมื่อต้นเดือนธันวาคม พระเจ้าแผ่นดินสยามได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังเมืองละโว้ เพื่อทรงเปลี่ยนอากาศและทรงพระราชสำราญในการคล้องช้างตามธรรมดาในปีหนึ่ง เคยประทับอยู่ในเมืองนี้ 8 เดือน..." นอกจากนั้นคณะทูตจากฝรั่งเศสชุดที่ 2 นำโดย ลาลูแบร์ ได้เดินทางถึงประเทศไทยและบันทึกไว้ว่า "...ละโว้ (Louvo) ตรงละติจูด 14 องศา 42 ลิปดา 32 ฟิลิปดา พระเจ้ากรุงสยามโปรดเสด็จแปรพระราชฐานไปประทับอยู่ที่เมืองนั้นเกือบตลอดปี เพื่อทรงสำราญพระราชอิริยาบถด้วยการประพาสล่าสัตว์ เช่น ประพาสล่าเสือหรือโพนช้าง..."

กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 53 หน้า 109 ตอนที่ 24 เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ.2479

bottom of page