top of page

Explorer

CAVE

สำรวจถ้ำลพบุรี

ภาพถ่ายโดย นายฮ้อย

ถ้ำเอราวัณ จังหวัดลพบุรี

ถ้ำเอราวัณ หรือ ถ้ำเทวาพิทักษ์ อยู่ในเขาเอราวัณ เขตสำนักสงฆ์ถ้ำเอราวัณ ไม่ไกลจากตัวอ่างเก็บน้ำซับเหล็กมากนัก ทางถนนจัดว่าสะดวกสบาย ลงรถแล้วเดินขึ้นบันไดก้อนหินอีกหนึ่งเหนื่อยเล็กๆ ก่อนจะหย่อนตัวเองให้หายลงไปในปากปล่องทางเข้า

 เขาถ้ำเอราวัณตั้งอยู่ที่หมู่ 9 ต.ช่องสาริกา อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี มีความสมบูรณ์ของป่าไม้ที่ปกคลุมอยู่ทั่วบริเวณ และยังมีสัตว์ป่าหลายชนิดอาศัยอยู่ ซึ่งการเดินทางมาเที่ยวถ้ำแห่งนี้ ก็ไม่ยากเพราะมีเส้นทางที่สะดวก ใช้เส้นทางสายสระบุรี-หล่มสัก ก่อนถึงอ.พัฒนานิคมจะมีทางแยกซ้ายมือที่มีป้ายบอกทางไปถึงถ้ำเอราวัณ

 เมื่อเดินทางมาถึงจุดหมาย ก็จะใช้การเดินเท้าเพื่อเข้าชมความงามในบริเวณถ้ำเอราวัณแห่งนี้ระยะทาง 50 เมตร และเดินเท้าขึ้นปากถ้ำอีก 60 เมตร เมื่อถึงปากถ้ำ ต้องใช้การคลานเพื่อเข้าถ้ำ และเมื่อเข้าไปถึงภายในถ้ำจะพบห้องโถงใหญ่ และจะพบความสวยงามของหินงอกหินย้อยขนาดเล็กขนาดใหญ่มากมายไปหมด ที่อยู่ในสภาพสมบูรณ์ที่สุด และในถ้ำยังมีสายธารน้ำไหลให้เห็นด้วย ซึ่งอากาศภายในถ้ำมีความเย็นสบายมีกลิ่นหอมไม่อับ และอากาศเย็นสบายเหมือนอยู่ในห้องแอร์ โดยถ้ำเอราวัณมีอยู่ด้วยกันทั้งสิ้น 15 ถ้ำ เป็นถ้ำใหญ่ 5 ถ้ำ พื้นที่ประมาณ 5,000 ตารางเมตร

 โดยบนยอดเขาเอราวัณเป็นลานกว้าง และมีหินผุดขึ้นมาเป็นบริเวณกว้าง และพอช่วงเทศกาลทุ่งทานตะวันบาน ก็จะมีนักท่องเที่ยวขึ้นมาบนยอดเขาเพื่อถ่ายภาพ และชมความสวยงามของทุ่งทานตะวันบาน

 "สมบัติ ท้าวสาบุตร" สมาชิกนักอนุรักษ์ป่าไม้ภูเขาและทิวทัศน์อำเภอพัฒนานิคม บอกว่า เดิมถ้ำแห่งนี้ไม่มีผู้ใดให้ความสนใจมากนัก เพราะเห็นว่ายังไม่มีการพัฒนาแต่เมื่อมีการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว ก็มีผู้ให้ความสนใจมากขึ้น เพราะว่านอกจากมีความสวยงามของถ้ำแล้วที่นี่ยังมีสัตว์ป่านานาชนิดอาศัยอยู่ทั้งลิงพันธุ์ต่างๆ กระรอก กระแตร กระต่าย และสัตว์อีกหลายชนิดให้ได้ดู

 "ทางอบต.ช่องสาริกา ส่งเสริมให้สถานที่แห่งนี้เป็นแหล่งท่องเที่ยวของตำบล พร้อมใช้คนในชุมชนเป็นไกด์นำเที่ยวเพื่อความปลอดภัยให้นักท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่เข้ามาเที่ยว และให้ชุมชนขายสินค้าให้นักท่องเที่ยวได้อีกทางหนึ่งด้วย สามารถสร้างรายได้ให้ครอบครัว และสิ่งที่ได้มากกว่านั้นคือได้ความรักความหวงป่าชุมชน และธรรมชาติที่สวยงามของหมู่บ้านตนเองเอาไว้

 นอกจากที่นักท่องเที่ยวได้มาเที่ยวชมเขาถ้ำเอราวัณแล้ว ในช่วงปลายฝนต้นหนาว นักท่องเที่ยวจะได้ชมความงามของทุ่งทานตะวัน
บนลานกลางหุบเขาที่สวยงามด้วย และยังสามารถเดินทางไปชมเขื่อนป่าสักและเลยไปเที่ยวบ้านโป่งมะนาว ซึ่งเป็นแหล่งโบราณคดีก่อนมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งถือว่าการมาเที่ยวจ.ลพบุรีภายในหนึ่งวันนั้นแสนคุ้มค่ามาก  โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายมากมาย และไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไกลไปเที่ยวในต่างจังหวัด เพียงใช้เวลาเดินทางจากกรุงเทพฯ เพียง 2 ชั่วโมงก็ถึงจุดหมายปลายทางแล้ว

ข้อมูลเพิ่มเติม

ถ้ำเอราวัณ ที่อยู่ 29/1 ต.ช่องสาลิกา อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี

บริเวณตำบลช่องสาริกามีภูเขาหลายลูกเรียงติดกันเรียกว่า "เทือกเขาอ้ายก้าน" ประกอบด้วย เขาฝาชี เขาเขียว เขาอ้ายก้าน เขาไม่มีชื่อและเขาช่องสาริกา โดย "ภูเขาเอราวัณ" เป็นเขาหินปูนที่อยู่ระหว่างเขาช่องสาริกา ตั้งอยู่ระหว่างหมู่ 9, 12 และ 13 มีพื้นที่ 1,500 ไร่ ความสูงประมาณ 267 เมตรจากระดับน้ำทะเล มีสภาพป่าเป็นป่าเบญจพรรณที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์ มีคุณค่าทางธรรมชาติวิทยาและโบราณคดี


เมื่อปลายปี พ.ศ.2546 ราษฎรหมู่ที่ 9 ตำบลช่องสาลิกา ได้รับทราบข่าวว่าจะมีการก่อสร้างโรงงานปูนซีเมนต์ และขอสัมปทานภูเขาเอราวัณ เพื่อใช้หินปูนคุณภาพดีนำมาเป็นวัตถุดิบ ราษฎรจึงรวมตัวเป็นกลุ่มมีชื่อว่า "ชมรมรักษ์เขาเอราวัณ" คัดค้านโครงการนี้ด้วยเหตุผลว่าการก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมหนักขนาดใหญ่ในพื้นที่ ที่ราษฎรทำการเกษตรกรรมโดยรอบใกล้วัด และชุมชนก่อให้เกิดผลกระทบต่อการดำรงชีวิต ส่วนในบริเวณพื้นที่ภูเขาเอราวัณนั้นมีคุณค่าทางธรรมชาติวิทยาและโบราณคดี จึงได้ขอความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ทำการศึกษาหาข้อมูลทางวิชาการเพื่อใช้เป็นประเด็นหยุดยั้ง มิให้มีการอนุญาตให้ทำลายภูเขาเอราวัณ โดยมีหน่วยงานดังนี้ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชศึกษาเรื่องพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ กรมทรัพยากรธรณีศึกษาเรื่องซากดึกดำบรรพ์ มูลนิธิสืบนาคะเสถียรศึกษาเรื่องถ้ำ สำนักโบราณคดีฯ ที่ 4 กรมศิลปากรศึกษาเรื่องหลักฐานโบราณคดี ผลการศึกษาพบว่า ที่ภูเขาเอราวัณมีหลักฐานที่ทรงคุณค่าทางวิชาการด้านพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ ซากดึกดำบรรพ์ แหล่งโบราณคดีและถ้ำใหญ่โตสวยงามมากมาย

การสำรวจศึกษาชุมชนและคุณค่าของภูเขาเอราวัณได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงานและพบหลักฐานที่มีคุณค่ามากมาย เช่น

1. ถ้ำ ในพื้นที่ภูเขาเอราวัณมีถ้ำอยู่มากกว่า 15 ถ้ำ มีการสำรวจถ้ำหลักจำนวน 5 ถ้ำได้แก่ ถ้ำเทวาพิทักษ์ ถ้ำโปร่ง ถ้ำเอราวัณ ถ้ำอริยะสัจ 4 และถ้ำที่ยังไม่มีชื่ออีก 1 ถ้ำ ภายในถ้ำมีความสวยงามตามธรรมชาติ มีหินงอก หินย้อย ม่านหินย้อย หลอดหินย้อย หินผุด หินน้ำไหล เสาหิน หินปูนฉาบ ฯลฯ จากการสำรวจถ้ำพบว่า 'ถ้ำเทวาพิทักษ์' เป็นถ้ำมีขนาดใหญ่ที่สุด และความยาวของถ้ำประมาณ 200 เมตร


2. ฟอสซิสดึกดำบรรพ์ พบซากฟอสซิลหอยนอติลุส(หอยวงช้าง) คชข้าวสาร ปะการัง พลับพลึงทะเล และหอยกาบเดียวอีกหลายชนิด


3. ภาชนะดินเผา บางถ้ำพบหลักฐานทางโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายอายุกว่า 2,000 ปี เช่น ภาชนะทรงพานหรือภาชนะฐานสูง เศษภาชนะดินเผาลวดลายต่างๆ และท่อหล่อ


4. สัตว์ป่า มีการสำรวจพบมี 'นกจู๋เต้นเขาปูน' ซึ่งเป็นนกเฉพาะถิ่นซึ่งนับเป็นแหล่งที่ 2 ของโลกเพราะอาศัยอยู่เฉพาะในเขาหินปูน นอกจากนั้นยังพบ ค้างคาวมงกุฎเทาแดง ตุ๊กแกป่า ลิงกัง อีเห็น เม่น เต่าเหลือง ไก่ป่า และสัตว์ป่าหายากอีกหลายชนิด


5. พันธุ์พืชเฉพาะถิ่นหายาก คือ'โมกราชินี'(Wrightia sirikitiae) ซึ่งเป็นพืชชนิดใหม่ของโลกค้นพบเมื่อปี 2544 บริเวณภูเขาหินปูนแถบจังหวัดสระบุรี ลพบุรี และปราจีนบุรี ตั้งชื่อตามพระนามของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ นอกจากนี้ยังมีโมกเหลือง โกงกางน้ำจืด ขนุนดิน มะยมเงินมะยมทอง มะกา ขี้เหล็กฤาษี จันทน์ผา ปออีเก้ง ไทร ฯลฯ

     บริเวณเขาเอราวัณมีสำนักสงฆ์ถ้ำเอราวัณซึ่งอยู่บริเวณใกล้กับถ้ำโปร่ง และด้านหลังของสำนักสงฆ์ถ้ำเอราวัณ จะเป็นถ้ำเอราวัณภายในถ้ำมีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ข้างใน ส่วนทางด้านชมรมรักษ์เขาเอราวัณจึงได้ใช้ผลการศึกษาดังกล่าวเป็นข้อมูลเรียกร้อง ให้หน่วยงานราชการที่มีอำนาจเกี่ยวข้องในการอนุมัติให้สัมปทานภูเขาเอราวัณได้พิจารณาว่า ไม่สมควรอนุมัติให้สัมปทานทำเหมืองหิน รวมทั้งได้จัดตั้งแหล่งเรียนรู้ชั่วคราวขึ้นที่ สำนักสงฆ์ถ้ำเอราวัณ เพื่อเผยแพร่ข้อมูลอันทรงคุณค่าภูเขาเอราวัณให้เป็นที่ทราบทั่วกัน ในที่สุดเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2550 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ประกาศให้ภูเขาเอราวัณเป็นพื้นที่อนุรักษ์ประเภท "เขตห้ามล่าสัตว์ป่า" และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 30 พฤษภาคม 2550 ซึ่งหมายถึงว่าภูเขาเอราวัณได้รับการคุ้มครองให้เป็นสมบัติทางธรรมชาติของประเทศ ปลายปีพ.ศ. 2551 ชมรมอนุรักษ์เขาเอราวัณได้พัฒนาแหล่งเรียนรู้ชั่วคราวเขาเอราวัณให้เป็นแหล่งเรียนรู้ถาวร ด้วยการขอใช้พื้นที่ชั้นล่างของหอสวดมนต์สำนักสงฆ์ถ้ำเอราวัณเป็นที่จัดแสดงนิทรรศการถาวร โดยใช้งบประมาณจากภาคประชาชนมีชื่อว่า "แหล่งเรียนรู้สหวิทยาการเขาเอราวัณ"

     ปัจจุบัน เขาเอราวัณเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชุมชนและเยาวชน เป็นแหล่งสำรวจศึกษาทางวิชาการของนักศึกษา นักวิชาการและสถาบันวิชาการทั้งในท้องถิ่นและระดับชาติ เป็นแหล่งทำกิจกรรมทางศาสนาและประเพณีท้องถิ่นโดยมีสำนักสงฆ์ที่เชิงเขา เป็นแหล่งอนุรักษ์พรรณพืชและสัตว์ป่าประจำถิ่น เป็นแหล่งศึกษาด้านโบราณคดีและมีพิพิธภัณฑ์ซากดึกดำบรรพ์ที่เปิดให้ศึกษาทุกวัน บริเวณเขาอราวัณมีความเหมาะสมที่จะพัฒนาเ็ป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ต่อไป

     การเยี่ยมชมติดต่อสอบถามได้ที่ 086-8103413   081-7049009

bottom of page