top of page

ประเพณีชักพระศรีอาริย์ วัดไลย์

ชักพระ ลพบุรี

ประเพณีชักพระศรีอาริย์ หรือแห่พระศรีอาริย์ วัดไลย์ อำเภอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี เป็นประเพณีที่ปฏิบัติกันมาช้านาน

ซึ่งชาวบ้านเชื่อกันว่าพระศรีอาริย์หรือพระศรีอริยเมตไตรย จะมาตรัสรู้เป็นสัมมาสัมพุธเจ้า ในโลกมนุษย์หลังจากสิ้นสุด

ศาสนาของพระมหาสมณโคดมแล้วห้าพันปี เพื่อเผยแพร่พระพุทธศาสนา เรียกว่า ศาสนาพระศรีอาริย์

จึงได้มีการสร้างรูปพระศรีอาริย์ขึ้น เพื่อเป็นการเคารพสักการะโดยเชื่อกันว่าจะได้ไปเกิดในยุคศาสนา

ของพระศรีอาริย์ จะทำให้มีแต่ความร่มเย็นเป็นสุข

ประเพณีชักพระศรีอาริย์ วัดไลย์
ประเพณีชักพระศรีอาริย์ วัดไลย์

ประเพณีชักพระศรีอาริย์ วัดไลย์นี้ แต่เดิมจะจัดในช่วงหน้าน้ำ ซึ่งตรงกับวันแรม 5 ค่ำ เดือน 11 โดยแห่พระทางชลมารค เพราะน้ำจะท่วมท้องทุ่ง การสัญจรไปมาทางเรือสะดวก การแห่พระทางชลมารคจะอัญเชิญรูปพระศรีอาริย์ลงเรือปิกนิก หรือเรียกกันว่าเรือทรง มีเรือพายของคณะกรรมการวัดใช้เชือกลากจูงนำหน้าและมีเรือพายของชาวบ้านจำนวนร้อย ๆ ลำเข้าร่วมขบวนแห่ แต่มีบางพวกจะแข่งเรือยาวบางพวกเล่นเพลงฉ่อยและเพลงเรือ ท้ายขบวนมีเรือเอี้ยมจุ๊นของทางวัดบรรทุกพวกมโหรี ปี่พาทย์ แตรวง บรรเลงให้ความครึกครื้นไปตลอดทาง โดยเรือทุกลำจะตกแต่งอย่างสวยงาม เพื่อโยงเรือทรงผลัดเปลี่ยนกันไปตามลำน้ำบางขามจนถึงวัดมหาสอน ตำบลมหาสอน อำเภอบ้านหมี่ รวมระยะทางประมาณ 7 กิโลเมตร

 

ตลอดทางจะมีการตั้งโรงทานเลี้ยงอาหารและเครื่องดื่มแก่ผู้ร่วมขบวนเป็นระยะ ๆ เมื่อขบวนแห่พระกลับถึงวัด ก็จะเปิดโอกาสให้ประชาชนได้นมัสการ สรงน้ำ ปิดทองพระ ส่วนตอนกลางคืนประชาชนจะนำเรือมาลอยอยู่หน้าวัดเพื่อฟังการเล่นเพลงพื้นเมือง ซึ่งตอบโต้กันสนุกสนาน และในเรือทุกลำจะมีการจุดตะเกียงจนสว่างไสวไปทั่ว สำหรับบนศาลาวัดไลยนั้น จะมีการเทศนาเรื่องตำนานพระศรีอาริย์ ให้ประชาชนฟังไปพร้อม ๆ กัน ปัจจุบันนี้ประเพณีชักพระศรีอาริย์ทางชลมารคได้ล้มเลิกไปแล้ว เนื่องจากได้มีการสร้างเขื่อนเจ้าพระยาที่จังหวัดชัยนาทเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในการเกษตร จึงทำให้นำที่เคยไหลท่วมทุ่งแห้งแล้งลง ประเพณีชักพระศรีอาริย์จึงได้เปลี่ยนมาจัดงานในฤดูแล้ง คือวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 
ซึ่งเป็นประเพณีแห่พระทางสถลมารค แต่พิธีต่าง ๆ ยังคงอนุรักษ์แบบแผนเดิมไว้


โดยจัดเป็นขบวนแห่อัญเชิญรูปหล่อพระศรีอาริย์ขึ้นประดิษฐานบนตะเฆ่ชนิดไม่มีล้อ ทำเป็นบุษบกมีหลังคาหรือทำเป็นฉัตรกั้นแล้วใช้เชือกขนาดใหญ่สองเส้นผูกเป็นสองแถว และให้ประชาชนทั้งหลายที่มาร่วมขบวนช่วยกันลากไปตามเส้นทางที่กำหนดไว้ เมื่อถึงเวลาเริ่มพิธีจะจุดพลุ พร้อมตีกลองและระฆังเป็นสัญญาณเริ่มการฉุดลากตะเฆ่ เพื่ออัญเชิญรูปหล่อพระศรีอาริย์แห่ผ่านหมู่บ้านต่าง ๆ ซึ่งตลอดระยะทางจะมีผู้มาตั้งโรงทานเลี้ยงอาหารหลากหลายชนิด มีทั้งข้าวต้ม ข้าวแกง ขนมจีนน้ำยา อาหาร คาวหวาน นอกจากนี้ยังมีดนตรีหรือการละเล่นต่าง ๆ เมื่อไปถึงสถานที่ซึ่งสุดเส้นทางที่กำหนดไว้แล้วจะให้ประชาชนได้สรงน้ำพระศรีอาริย์ และนมัสการปิดทอง ครั้นได้เวลาอันสมควรแล้วก็จะนำขบวนแห่กลับวัด พอถึงวัดจะอัญเชิญรูปหล่อพระศรีอาริย์ขึ้นประดิษฐานยังวิหารตามเดิม และเปิดโอกาสให้ประชาชนได้นมัสการปิดทอง ตอนกลางคืนจะมีมหรสพต่าง ๆ เช่น ภาพยนตร์ ลิเก ฯลฯ


ประเพณีขัดพระศรีอาริย์เป็นประเพณีโบราณเก่าแก่ ที่กระทำสืบต่อกันมา ผู้ที่ได้มาร่วมงานจะได้ทั้งกุศล ความสนุกสนานรื่นเริง อีกทั้งยังได้ดูประเพณีที่พยายามรักษากันไว้เพื่อให้คนรุ่นหลังได้พบเห็นและชื่นชมกันต่อไปในวันข้างหน้า

bottom of page