top of page

เป็นแหล่งโบราณคดีมนุษย์อายุประมาณ 2,300-3,500 ปี ยุค “บ้านเชียงตอนปลาย” มีการขุดพบโครงกระดูกมนุษย์โบราณถึง 13 โครงกระดูกภายในหลุมเดียวกัน

LOST

PONGMANAO

OF LOPBURI

พิพิธภัณฑ์ เปิดบ้านบ้านโป่งมะนาว จังหวัดลพบุรี

เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2543 มีการลักลอบขุดหาโบราณวัตถุในบริเวณวัดโป่งมะนาว ตำรวจจึงได้เข้าจับกุม หลังจากนั้นวัดโป่งมะนาว คณะกรรมการหมู่บ้านโป่งมะนาว และผู้นำองค์กรต่างๆในท้องถิ่นตำบลห้วยขุนราม ได้ขุดขยายหลุมขุดหาโบราณวัตถุเพื่อปรับปรุงให้เป็นหลุมจัดแสดงโครงกระดูกมนุษย์สมัยโบราณ และยังรวบรวมโบราณวัตถุที่พบมาจัดแสดงไว้ที่วัดโป่งมะนาว โดยหวังให้เป็นพิพิธภัณฑ์ประจำหมู่บ้าน รวมทั้งได้ประสานขอความร่วมมือกับคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ให้มาดำเนินการขุดค้นทางวิชาการโบราณคดี และการจัดทำพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นที่วัดโป่งมะนาว

ปัจจุบันแหล่งโบราณคดีบ้านโป่งมะนาวเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางศิลปวัฒนธรรมที่สำคัญและมีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของท้องถิ่นและของจังหวัดลพบุรี ภายในวัดโป่งมะนาวและแหล่งโบราณคดีบ้านโป่งมะนาว มีทั้งพิพิธภัณฑสถานชุมชนบ้านโป่งมะนาว และการจัดแสดงหลุมขุดค้นทางโบราณคดี (Site museum) โดยมีมัคคุเทศก์และยุวมัคคุเทศก์ท้องถิ่นให้บริการนำชม อีกทั้งยังมีการขายสินค้าและผลิตภัณฑ์ของท้องถิ่นภายในพิพิธภัณฑ์

นอกจากนี้ยังมีการเชื่อมโยงสถานที่ท่องเที่ยวในท้องถิ่นและในพื้นที่ใกล้เคียง ให้เป็นเส้นทางท่องเที่ยวทางธรรมชาติและศิลปวัฒนธรรม เช่น น้ำตกสวนมะเดื่อและวัดถ้ำตะเพียนทอง (ต.ห้วยขุนราม อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี) เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ (อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี และ อ.วังม่วง จ.สระบุรี) แหล่งโบราณคดีซับจำปาและป่าจำปีสิรินธร (ต.ซับจำปา อ.ท่าหลวง จ.ลพบุรี) เป็นต้น

หน่วยงานที่ดูแลรักษา: 

ชมรมอนุรักษ์แหล่งโบราณคดีและทรัพยากรธรรมชาติ ตำบลห้วยขุนราม, องค์การบริหารส่วนตำบลห้วยขุนราม, กรมศิลปากร

สภาพทั่วไป

แหล่งโบราณคดีบ้านโป่งมะนาว มีลักษณะพื้นที่เป็นเนินดินธรรมชาติที่ทับถมสูงขึ้นจากทั้งธรรมชาติและกิจกรรมของมนุษย์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ปัจจุบันเนินดินมีขนาดยาวประมาณ 400 เมตร และส่วนที่กว้างที่สุดกว้างประมาณ 200 เมตร เดิมเนินดินนี้มีลำห้วยธรรมชาติล้อมรอบ แต่ในปัจจุบันลำห้วยด้านทิศเหนือตื้นเขินไปแล้ว เหลือเพียงลำห้วยด้านทิศใต้เท่านั้น (เรียกว่าห้วยสวนมะเดื่อ) ลำห้วยเหล่านี้จะไหลออกสู่แม่น้ำป่าสักที่อยู่ห่างออกไปทางทิศตะวันตกประมาณ 10 กิโลเมตร ในที่สุด

ปัจจุบันบนเนินดินแหล่งโบราณคดีเป็นที่ตั้งของวัดโป่งมะนาว ซึ่งนอกจากจะเป็นพื้นที่ที่ใช้ประกอบกิจกรรมทางพุทธศาสนาของวัดโป่งมะนาวแล้ว ยังใช้เป็นพื้นที่เพาะปลูก ได้แก่ ไร่ข้าวโพด สวนสะเดา รวมถึงไม้ยืนต้นและไม้ล้มลุกต่างๆ

สภาพธรณีวิทยา

หมู่บ้านโป่งมะนาวตั้งอยู่ในเขตที่สูงตอนกลางของประเทศไทย ส่วนที่เป็นบริเวณแนวขอบของเทือกเขาที่แบ่งระหว่างภาคกลางกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือออกจากกัน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือเป็นเทือกเขาที่แบ่งระหว่างที่ราบภาคกลางกับที่ราบสูงโคราช

ภูมิประเทศบริเวณนี้เป็นพื้นที่ที่เกิดจากการกัดกร่อนและพังทลายของหินพื้นฐานต่างๆ โดยลำน้ำและกระบวนการอื่นๆ เช่น การเคลื่อนย้ายของกลุ่มวัตถุ (Mass movement) และการชะล้าง (Slope wash) ทำให้เกิดสภาพภูมิประเทศที่ไม่ราบเรียบ เป็นลูกคลื่นลอนลาด มีความลาดเทประมาณ 2-16% มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 30-350 เมตร (กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กองสำรวจและจำแนกดิน2519)

เมื่อพิจารณาจากภาพถ่ายทางอากาศ (สุรพล นาถะพินธุ 2548: 3) พบว่าพื้นที่บริเวณนี้มีร่องรอยทางน้ำธรรมชาติมากมาย ซึ่งเกิดขึ้นจากน้ำซับหรือน้ำพุตามธรรมชาติ แบบแผนการแพร่กระจายของทางน้ำเหล่านี้เป็นแบบรูปกิ่งไม้ แสดงให้เห็นว่าพื้นที่แถบนี้มีการลาดเอียงไปในแนวเดียวกัน คือลาดเอียงจากทิศตะวันออกไปทางทิศตะวันตก หรือลาดเอียงจากเขตของภูเขาไปทางแม่น้ำป่าสัก

พื้นที่บ้านโป่งมะนาวมีความสูงโดยเฉลี่ยประมาณ 180 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง และจัดเป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งของเขตลุ่มแม่น้ำป่าสัก แม่น้ำสายนี้อยู่ห่างออกไปทางทิศตะวันตกประมาณ 10 กิโลเมตร นอกจากนี้ยังมีภูเขาหินปูนสูง 2 ลูกที่อยู่ใกล้บ้านโป่งมะนาว ภูเขาที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือคือ เขาโป่งสวอง ส่วนภูเขาที่ตั้งอยู่ทางทิศใต้คือ เขาลูกมน (สุรพล นาถะพินธุ 2548: 2)

สภาพพื้นที่บริเวณวัดโป่งมะนาวและแหล่งโบราณคดีบ้านโป่งมะนาว มีลักษณะเป็นเนินดิน ขนาดยาวประมาณ 400 เมตร และส่วนที่กว้างที่สุดกว้างประมาณ 200 เมตร เดิมมีลำห้วยล้อมรอบเนินดิน แต่ปัจจุบันลำห้วยด้านทิศเหนือตื้นเขินไปแล้ว ทิศทางการไหลของลำห้วยไหลจากทิศตะวันออกไปยังทิศตะวันตก หรือไหลไปทางบ้านสวนมะเดื่อ จนรวมเข้ากับลำห้วยอื่นๆ และไหลลงสู่แม่น้ำป่าสักในที่สุด

ด้านปฐพีวิทยาพบว่าดินในพื้นที่แถบนี้โดยทั่วไปเป็นชุดดินลพบุรี (Lop Buri Series: Lb) (นายวิจิตร ทันด่วน และคณะ 2519) ซึ่งเกิดจากตะกอนน้ำพาที่มีแร่ดินเหนียว ส่วนใหญ่เป็นชนิดมอนท์มอริลโลไนต์ (Montmorillonite) ทับถมอยู่บนชั้นปูนมาร์ล (Marl) หรือตะพักเขาหินปูน เช่นเดียวกับแหล่งโบราณคดีบ้านโป่งมะนาว ซึ่งมีลักษณะเป็นลานตะพักปูนมาร์ล (Marl terrace) ทับถมจากตะกอนน้ำพาเป็นหลัก ดินมีความเป็นด่างอ่อน (ค่า pH 8-8.5)

อย่างไรก็ตาม ดินในบริเวณแหล่งโบราณคดีบ้านโป่งมะนาวมีความแตกต่างออกไปจากชุดดินลพบุรีในพื้นที่อื่นเล็กน้อย โดยเฉพาะในชั้นดินบน กล่าวคือเป็นดินที่มีลักษณะผสมผสานกันระหว่างชุดดินลพบุรีกับชุดดินตาคลี (Takhli Series: Tk) และชุดดินปากช่อง (Pak Chong Series: Pc) (คณะนักศึกษาภาควิชาโบราณคดี 2546: 24) ที่อาจถูกน้ำพัดพามาจากต้นน้ำและทับถมอยู่บริเวณแหล่งโบราณคดี ทำให้ดินที่พบมีสีน้ำตาล-ดำ ไม่ดำมากดังเช่นสีของชุดดินลพบุรี และดินก็ไม่เหนียวจัดอย่างชุดดินลพบุรี นอกจากนี้ในชั้นดินบนตอนล่างและชั้นดินล่างจะพบชั้นปูนมาร์ล (Marl) ทั้งที่เป็นเม็ดและเชื่อมต่อกันหนาแน่น และจะพบมากขึ้นตามระดับความลึกจากผิวดิน

ส่วนคุณสมบัติประการอื่นๆของดินที่แหล่งโบราณคดีบ้านโป่งมะนาว คือ ดินมีการะบายน้ำดี การไหลบ่าของน้ำบนผิวดินช้าถึงปานกลาง การซึมผ่านได้ของน้ำช้า ดินมีการหดตัว (ในฤดูแล้ง) และขยายตัว (ในฤดูฝน) สูง เหมาะสมกับการเพาะปลูกพืชไร่ พืชพรรณธรรมชาติที่เหมาะสมได้แก่ พืชในป่าเบญจพรรณ

การเดินทาง

จากตัว อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี ใช้ทางหลวงหมายเลข 3017 มุ่งหน้าทิศตะวันออก (หรือมุ่งหน้าไปทางเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) เมื่อผ่านด้านทิศใต้ของเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์จะเข้าสู่ ต.วังม่วง อ.วังม่วง จ.สระบุรี เมื่อถึงแยกวังม่วง (ต.วังม่วง อ.วังม่วง จ.สระบุรี) ให้เลี้ยวซ้ายสู่ทางหลวงหมายเลข 2089 มุ่งไปทางทิศเหนือ ประมาณ 6.8 กิโลเมตร จะพบแยกน้ำสุด ให้เลี้ยวขวาใช้ทางหลวงหมายเลข 2282 มุ่งหน้าทางทิศตะวันออก หรือไปทางบ้านน้ำสุด (ต.น้ำสุด อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี) ตรงไปประมาณ 13.5 กิโลเมตร (ผ่านตัว ต.น้ำสุด และ ต.ห้วยขุนราม) พบสี่แยกให้เลี้ยวขวา มุ่งหน้าบ้านโป่งมะนาว ระยะทางประมาณ 1.3 กิโลเมตร จะพบวัดโป่งมะนาว ซึ่งเป็นที่ตั้งของแหล่งโบราณคดีบ้านโป่งมะนาว ตั้งอยู่ทางขวามือ

สำหรับนักเรียน/นักศึกษา/นักท่องเที่ยวที่มาเป็นหมู่คณะและต้องการวิทยากรบรรยายฟรี ติดต่อได้ที่ สถานีอนามัยตำบลห้วยขุนราม นายสมส่วน บูรณพงษ์ โทร.0 3645 9457, 08 1294 7790, 08 7007 1540http://www.sadoodta.com/info/%E0%B9%81%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B9%82%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%93%E0%B8%84%E0%B8%94%E0%B8%B5%E0%B8%9A%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B9%82%E0%B8%9B%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%A1%E0%B8%B0%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%A7#sthash.OSo9zC9x.dpuf

bottom of page